กำจัดหนู
สำรวจพื้นที่ฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ความรู้เรื่องแมลงสาบ และการป้องกันและกำจัด

แมลงสาบ (Cockroaches) 

       แมลงสาบเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มานานประมาณ 250 ล้านปี โดย สันนิษฐานจากหลักฐานซึ่งเป็นฟอสซิล (fossil) ที่ถูกค้นพบ ตามการจำแนกแมลงทางวิทยา- ศาสตร์ แมลงสาบถูกจัดกลุ่มไว้ในชั้น (class) Insecta, อันดับ (order) Orthoptera แต่บางครั้งพบว่าในตำราบางเล่มแมลงสาบอาจจะถูกจัดอยู่ในอันดับ Dictyoptera หรือ Blattodea ก็ได้ ซึ่งการจำแนกที่แตกต่างกันเหล่านี้เกิดขึ้นจากการใช้ลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันมา ใช้ในการจำแนก แมลงสาบถูกจำแนกย่อยออกเป็น วงศ์ (family) ต่างๆ ได้ทั้งสิ้น 5 วงศ์ คือ Blattidae, Blattellidae, Blaberidae, Cryptocercidae และ Polyphagidae จนกระทั่งปัจจุบันนี้แมลงสาบที่พบทั่วโลกมีทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ชนิด

ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแมลงสาบ 
       แมลงสาบมีการเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดเพียงเล็กน้อย วงจรชีวิต (life cycle) ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ไข่ (egg), ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย (nymph) และ ตัวเต็มวัย (adult) ซึ่งตัวอ่อนนี้จะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย โดยตัวอ่อนระยะแรกที่ออกจากไข่จะยังไม่มีปีก เมื่อผ่านการลอกคราบ 2-3 ครั้ง จะเริ่มมีปีกและอวัยวะสืบพันธุ์ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น จนเป็น ตัวเต็มวัยที่มีปีกเจริญเต็มที่และอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์ ไข่ของแมลงสาบมีปลอกหุ้มเรียกว่า ฝักไข่ (ootheca) มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว ส่วนมากมีสีน้ำตาลแดง จำนวนของไข่ในแต่ละฝักจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของแมลงสาบ โดยทั่วไปจะมีประมาณฝักละ 16-30 ฟอง แมลงสาบสามารถวางไข่ได้หลายชุด บางชนิดอาจจะวางเพียง 4-8 ชุด แต่บางชนิดอาจวางไข่ได้มากถึง 90 ชุด แมลงสาบบางชนิดจะนำฝักไข่ติดตัวไปด้วยจนไข่ใกล้จะฟักจึงจะปล่อยออกจากลำตัว ลักษณะในการวางไข่ของแมลงสาบ แต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ส่วนใหญ่แมลงสาบชอบวางไข่ในตู้ทึบ ลิ้นชักหรือกล่องกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจวางไข่อยู่ตามซอกหรือมุมห้อง ซึ่งบางครั้งอาจจะวางไข่ติดกับฝา ผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้ด้วย ไข่ของแมลงสาบจะฟักภายในระยะเวลา 1-3 เดือน ตัวอ่อนของแมลงสาบที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวและไม่มีปีก เมื่อมีอายุได้ 3-4 สัปดาห์ ก็จะมีการลอกคราบเกิดขึ้น ซึ่งการลอกคราบนี้จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จำนวนครั้งในการลอกคราบของตัวอ่อนและระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยนั้นแตกต่างกันตามแต่ชนิดของแมลงสาบ
        แมลงสาบตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนรีเป็นรูปไข่ ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 1 ซม. ถึง 8 ซม. มีสีต่างๆ กันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงดำ บางชนิดอาจมีสีอื่นที่ค่อนข้างแปลกตา เช่น สีส้ม หรือสีเขียวก็ได้ โดยทั่วไปแมลงสาบตัวเมียจะอ้วนกว่าตัวผู้ หัวของแมลงสาบมีลักษณะคล้ายผลชมพู่ คือ ด้านบนป้านส่วนด้านล่างเรียวลง และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ส่วนหัวจะติดกับส่วนอกโดยมีส่วนคอเล็กๆ เชื่อมอยู่ แมลงสาบอาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ โดยปกติ พวกที่มีปีกเจริญดีจะมีปีก 2 คู่ ปีกคู่แรกจะแข็งแรงกว่าปีกคู่หลัง ทั้งนี้ปีกคู่หลังซึ่งมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ จะซ้อนทับอยู่ใต้ปีกคู่แรก ปีกของแมลงสาบจะปกคลุมลำตัวด้านบนไว้เกือบ ทั้งหมด อย่างไรก็ตามแมลงสาบบางชนิดอาจมีปีกที่กุดสั้นก็ได้ ถึงแม้ว่าแมลงสาบจะสามารถบินได้ก็ตามแต่โดยทั่วไปแล้วมักเดินหรือวิ่งมากกว่า ทั้งนี้จะบินในกรณีที่ถูกรบกวนเท่านั้น แมลงสาบมีขา 3 คู่ ขาคู่หน้าเล็กกว่าขาคู่หลัง ขาของแมลงสาบนั้นมีลักษณะเป็นขาสำหรับวิ่งจึงทำให้แมลงสาบวิ่งได้เร็วมาก แมลงสาบมีหนวดยาวเรียวแบบเส้นด้าย 1 คู่ ซึ่งมีขนเล็กๆ จำนวนมากอยู่รอบๆ หนวด ปากมีลักษณะเป็นแบบกัดเคี้ยว แมลงสาบสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ส่วนมากชอบกินเศษอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล ซากสัตว์หรือแมลงที่ตายแล้ว น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ กระดาษ หรือแม้แต่ผ้า เป็นต้น แมลงสาบ มีนิสัยชอบกินอาหารและถ่ายอุจจาระออกมาตลอดทางที่เดินผ่าน ชอบออกหากินในเวลากลางคืนและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ก็มีแมลงสาบบางชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวัน
        แมลงสาบมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น แต่ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะติดไปกับสินค้าจำพวกหีบห่อหรือลังไม้ที่ขนส่งไปทางเรือหรือรถบรรทุก อย่างไรก็ ตามยังคงพบแมลงสาบในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนมากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยทั่วไปแมลงสาบชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ท่อระบายน้ำ ร้านขายของชำ ร้านอาหาร ห้องครัวในโรงพยาบาลหรือโรงแรม โกดังเก็บสินค้าทางการเกษตรหรือกระดาษ เป็นต้น แมลงสาบชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มืด อบอุ่น และมีความชื้นสูง


แมลงสาบแมลงสาบ


ความสำคัญทางการแพทย์ของแมลงสาบ
       แมลงสาบมีความสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากเป็นพาหะสำคัญที่ สามารถนำเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว ติดต่อมาสู่มนุษย์ได้โดย ที่เชื้อโรคเหล่านี้ติดมากับขาหรือลำตัวของแมลงสาบในขณะที่แมลงสาบออกหากินตาม บริเวณที่สกปรก หรือการที่เชื้อโรคเหล่านี้อาจถูกแมลงสาบกินเข้าไปแล้วไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ดังกล่าวสามารถปนเปื้อนในอาหารหรือภาชนะที่แมลงสาบ เดินผ่านได้ ดังนั้นกลไกในการแพร่เชื้อโรคของแมลงสาบจึงเกิดจากพฤติกรรมในการออกหา อาหารและการกินอาหารของแมลงสาบซึ่งชอบหาอาหารตามสิ่งปฏิกูลและระหว่างเดินจะ สำรอกและถ่ายมูลไปตลอดทาง โรคที่นำโดยแมลงสาบส่วนใหญ่จึงเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดิน อาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ และอาหารเป็นพิษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแมลงสาบ ยังสามารถเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคเรื้อน กาฬโรค ตับอักเสบ หอบหืด ภูมิแพ้ หรือแม้แต่โรคผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าแมลงสาบสามารถเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) ของพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิปากขอ (Ancylostoma duodenale) , พยาธิไส้เดือนกลม (Ascaris lumbricoides), พยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nana), พยาธิ ตืดวัว (Taenia saginata), พยาธิใบไม้โลหิต (Schistosoma haematobium) เป็นต้น 
       จากรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่าแมลงสาบเป็นตัวการ สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก แมลงสาบจะปล่อยสาร ก่อภูมิแพ้ (allergen) ออกมาสู่บริเวณที่เดินผ่านหรือฟุ้งลอยอยู่ในอากาศ เมื่อมนุษย์สัมผัสสาร ก่อภูมิแพ้เหล่านี้ต่อเนื่องกันในระยะเวลาพอสมควรก็จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืดขึ้นได้ สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เชื่อว่าเกิดมาจากมูลหรือสารบางอย่างบนตัวของแมลงสาบ ผลการวิจัย จากหลายๆ รายงานพบว่ามีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และหอบหืดจำนวนไม่น้อยที่ให้ผลการทดสอบที่เป็น บวกต่อการทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้ที่สกัดจากแมลงสาบอเมริกันและแมลงสาบเยอรมัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแมลงสาบทั้งสองชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ และหอบหืดของมนุษย์

การป้องกันกำจัดแมลงสาบ
       มาตรการที่ใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงสาบในบ้านเรือนสามารถดำเนินการได้ด้วย 2 วิธี ใหญ่ๆ คือ
        1. การจัดการสภาพแวดล้อม การรักษาความสะอาดภายในบริเวณบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องเก็บของ เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้ามาอาศัยและแพร่พันธุ์ภายในบ้าน ป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าสู่บ้านโดยการปิดหรืออุดช่องโหว่ต่างๆ บริเวณประตูหน้าต่างหรือร่องแตกร้าวบนผนังตัวบ้าน รวมทั้งติดตะแกรงตาข่ายบริเวณรูเปิดสู่ท่อระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำหรือห้องครัวหรือนอกบ้าน ภายในบ้านควรจัดเก็บข้าวของต่างๆ ให้เป็นระเบียบเพื่อไม่ให้ เป็นที่หลบซ่อนของแมลงสาบได้ เก็บอาหารทั้งสดและแห้งให้มิดชิดและคอยระวังไม่ให้มีเศษอาหารตกหล่นบนพื้น ถังขยะต้องมีฝาปิดมิดชิดและควรหมั่นนำขยะไปกำจัดทิ้งอย่างสม่ำเสมอ 
       2. การควบคุมโดยใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์กำจัดแมลงต่างๆ เมื่อพบว่ามีแมลงสาบอยู่ภายในบ้านจำเป็นต้องรีบควบคุมกำจัดให้หมดไปโดยเร็วโดย การใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์กำจัดแมลงต่างๆ สารเคมีที่นิยมนำมาใช้กำจัดแมลงสาบ ได้แก่ สารในกลุ่ม carbamate, organophosphorous compound, synthetic pyrethroid, insect growth regulator (IGR) และ electron transport inhibitor (ETI) สารเคมีเหล่านี้ ถูกนำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงสาบได้หลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ละอองฝอย ผงสำหรับโรย หรือเหยื่อพิษ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกพัฒนาให้มี ประสิทธิภาพดีในการกำจัดแมลงสาบในบ้านเรือน อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะใช้สารเคมีแต่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือตัวใดตัวหนึ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากมีรายงานว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้แมลงสาบสามารถสร้างความต้านทานต่อสารเคมีที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่ม synthetic pyrethroid ดังนั้นจึงควรที่จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลงสาบเพื่อป้องกันปัญหาแมลงสาบสร้างความต้านทานต่อสารเคมีที่ใช้ ส่วนอุปกรณ์กำจัดแมลงสาบที่นิยมใช้ คือ กับดักแมลงสาบ ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นกับดัก ประตูกล และกับดักที่เป็นกาวเหนียว ประสิทธิภาพของกับดักแมลงสาบส่วนมากขึ้นอยู่กับเหยื่อหรือสารที่ใช้ล่อแมลงสาบให้มาเข้ากับดัก ถ้าเหยื่อหรือสารที่ใช้ล่อนั้นสามารถดึงดูดแมลงสาบได้ดีก็จะทำให้กับดักนั้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดแมลงสาบ

อ้างอิง

อภิวัฏ ธวัชสิน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์